วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กู้ฮาร์ดดิสก์จมน้ำ

สำหรับภาคธุรกิจแล้ว คอมพิวเตอร์จมน้ำยังไม่เสียดายเท่าไหร่... แต่ข้อมูลสำคัญที่อยู่ในฮาร์ดดิสก์นะซิ !! ทำอย่างไร... ถึงจะไม่สูญหายตามน้องน้ำไปด้วย

ห้าม....เปิดคอมพิวเตอร์เด็ดขาด หากยังไม่ได้กู้ฮาร์ดดิสก์ นี่คือกฎข้อแรกที่ต้องจำให้ขึ้นใจ

ส่วนข้อแนะนำต่อไป ทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกับศูนย์การค้าฟอร์จูนและร้านค้า จัดกิจกรรมให้ข้อมูลและแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องในการกู้ข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สำหรับผู้ประสบอุทกภัยขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เพื่อให้ผู้ประสบภัยทั้งภาครัฐ เอกชนรวมถึงประชาชนทั่วไป สามารถนำข้อมูลสำคัญออกจากฮาร์ดดิสก์ที่จมน้ำไปแล้ว ให้กลับมาโดยเร็ว

ซึ่งก่อนอื่น คงจะต้องทำความรู้จักกับฮาร์ดดิสก์หรืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลเสียก่อน เนื่องจากมีโครงสร้างและลักษณะการทำงานไม่เหมือนกัน ทำให้วิธีการกู้ข้อมูลก็ไม่เหมือนกัน

ทั้งนี้เราสามารถแบ่งฮาร์ดดิสก์ตามโครงสร้างการใช้งานเป็นสอง แบบ คือ “แบบจานแม่เหล็ก” ซึ่งนิยมใช้ในคอมพิวเตอร์ทั่วไป รวมถึงในกล้องวิดีโอบางรุ่น ซึ่งฮาร์ดดิสก์ประเภทนี้จะมีความจุค่อนข้างสูง ใช้แผ่นจานโลหะในการจัดเก็บข้อมูล มอเตอร์หมุนอยู่ภายใน และใช้หัวอ่านในการอ่านหรือเขียนข้อมูล หากฮาร์ดดิสก์มีความสั่นสะเทือน ขณะที่หัวอ่านทำงานโอกาสที่จะเสียหายมีมากเพราะหัวอ่านอาจไปขูดกับแผ่นจานแม่เหล็กได้

ส่วนแบบที่สองคือ “แบบโซลิด สเตท”(Solid state) ซึ่งใช้หลักการทำงานแบบเดียวกับ แฟลชไดร์ฟ ส่วนใหญใช้ในโน้ตบุ๊กหรือมือถือบางรุ่น โดยเป็นการเก็บข้อมูลแบบไม่มีหัวอ่านอยู่ภายใน ใช้การอ่านและเขียนโดยไฟฟ้า อ่านและเขียนข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว มีราคาสูงและส่วนใหญ่ยังมีขนาดความจุที่น้อยกว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็ก

... แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใด ...หากฮาร์ดดิสก์จมน้ำ ก็ยังพอมีโอกาสที่จะกู้คืนข้อมูลได้ …

สำหรับการเก็บกู้และนำส่งให้ผู้เชี่ยว ชาญ นั้น ทางเนคเทคมีข้อแนะนำ

หากเป็นฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็ก ไม่ควรทำการกู้ข้อมูลด้วยตนเองโดยเด็ดขาด เพราะเมื่อฮาร์ดดิสก์จมน้ำ หัวอ่านอาจจะไปติดอยู่กับจานข้อมูล ห้ามเปิดคอมพิวเตอร์ รวมถึงห้ามนำฮาร์ดดิสก์ไปต่อกับคอมพิวเตอร์อื่น ๆ เพราะถ้าจ่ายไฟเข้าไปจะเกิดการหมุนของหัวอ่านซึ่งอาจจะไปขูดกับจานข้อมูลทำให้ฮาร์ดดิสก์เสียหายถาวรได้

ห้ามแกะฝาครอบออกมาทำความสะอาดด้วยตนเอง รวมถึงอย่าทำให้ฮาร์ดดิสก์แห้ง เพราะเมื่อฮาร์ดดิสก์แห้งจะเกิดคราบและเศษฝุ่นเกาะติดอยู่ที่จาน หรือหัวอ่านได้

อย่าทำให้ฮาร์ดดิสก์สั่น สะเทือน เนื่องจากหัวอ่านอาจจะขูดกับแผ่นจาน ทำให้ฮาร์ดดิสก์เสียหายได้

และทำให้ฮาร์ดดิสก์อยู่ในสภาพที่จมน้ำแบบที่ยังคงเป็นอยู่ โดยอาจจะนำฮาร์ดดิสก์ใส่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เช่น กล่องโฟม หรือ กล่องใส่อาหาร หรือถุงซิป แล้วส่งให้กับผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการกู้ข้อมูลต่อไป

ส่วนฮาร์ดดิสก์แบบโซลิด สเตท เนื่องจากเป็นแผงวงจร จึงสามารถทนทานต่อการจมน้ำได้บ้าง หากฮาร์ดดิสก์ถูกน้ำควรรีบนำฮาร์ดดิสก์ออกมาทำให้แห้งโดยเร็ว ด้วยการใช้ พัดลมเป่า ไม่ควรใช้ไดรเป่าผมหรือนำไปตากแดด

จากนั้นเมื่อแน่ใจว่าฮาร์ดดิสก์แห้งสนิทแล้ว สามารถนำไปใช้งานต่อได้ แต่หากฮาร์ดดิสก์จมน้ำเป็นเวลานาน มีโอกาสที่จะทำให้แผงวงจรหรืออุปกรณ์ภายในขึ้นสนิมได้ ควรรีบทำให้แห้งแล้วส่งไปยังศูนย์กู้ข้อมูลเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการ ต่อไป

นอกจากนี้การนำส่งฮาร์ดดิสก์เพื่อกู้ข้อมูล ควรต้องเลือกศูนย์กู้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และมีนโยบายการรักษาความลับของลูกค้า เพื่อป้องกันข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ถูกขโมย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นข้อมูลความลับทั้งเรื่องส่วนตัวและทางธุรกิจ

...และสุดท้ายจากเหตุการณ์วิกฤติอุทกภัยครั้งนี้ บทเรียนสำคัญที่ได้ คือ ความจำเป็นในการสำรองข้อมูลอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง !!!.
นาตยา  คชินทร
nattayap@dailynews.co.th

เน็ตไร้สายฟรีทั่วประเทศของขวัญปีใหม่จากไอซีที

ไอซีที” ประกาศเปิด “ไว-ไฟฟรี” ทั่วประเทศ 2 หมื่นจุด เป็นของขวัญให้คนไทยหลังน้ำลด เผยยังไม่ฟันธงว่าจะเปิดคริสต์มาส หรือ ปีใหม่

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า หลังคนไทยผ่านวิกฤติน้ำท่วมมาถึง 60 จังหวัด คาดว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้ หรืออาจเป็นปีใหม่คนไทยทั่วประเทศจะได้ใช้บริการไว-ไฟฟรี (อินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง) รวม 20,000 จุดทั่วประเทศเพื่อเป็นของขวัญให้คนไทย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ฟันธงชัดเจนว่าจะเปิดให้บริการในช่วงคริสต์มาส หรือปีใหม่

สำหรับบริการไว-ไฟฟรี จำนวน 20,000 จุด จะเป็นการให้บริการด้วยไว-ไฟ ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ด้วยความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสูงสุด 2 เมกะบิตต่อวินาที โดยให้บริการในพื้นที่สาธารณะ สถานศึกษา และบริเวณที่เป็นแหล่งชุมชน ซึ่งขั้นตอนการเข้าใช้งานทั้งยูเซอร์เนม-พาสเวิร์ดยังไม่ได้กำหนด แต่ในอนาคตจะเพิ่มจุดให้บริการไว-ไฟฟรีให้มากกว่า 20,000 จุดอย่างแน่นอน โดยขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการไว-ไฟ ของบริษัทเอกชน.

ที่มาเดลินิวส์

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มาร์ก ทเวน




มาร์ก ทเวน (อังกฤษ: Mark Twain) เป็นนามปากกาของ ซามูเอล แลงฮอร์น คลีเมนส์ (อังกฤษ: Samuel Langhorne Clemens; 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1835 - 21 เมษายน ค.ศ. 1910) เป็นนักเขียน นักบรรยาย และนักเขียนเรื่องขบขันชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง และยังเป็นคนขับเรือกลไอน้ำ นักขุดทอง และนักหนังสือพิมพ์อีกด้วย ในช่วงสูงสุดของชีวิตเขานั้น เรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้นเลยทีเดียว วิลเลียม ฟอล์คเนอร์ (William Faulkner) ได้เขียนเกี่ยวกับ มาร์ก ทเวน ไว้ว่า เป็น "นักเขียนอเมริกันแท้ ๆ คนแรก และพวกเรานับแต่นั้นมาเป็นทายาทของเขา"
ผลงานของเขาที่น่าจะเป็นที่คุ้นตาของคนไทย ก็คือ ทอม ซอว์เยอร์ ผจญภัย (The Adventures of Tom Sawyer) และ ฮัคเคิลเบอรี่ ฟินน์ ผจญภัย (The Adventures of Huckleberry Finn)

ผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ มาร์ก ทเวน ได้ทิ้งไว้ให้กับ วรรณกรรมอเมริกัน ก็คือ ฮัคเคิลเบอรี่ ฟินน์ พจญภัย โดย เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ได้กล่าวเอาไว้ว่า
All modern American literature comes from one book by Mark Twain called Huckleberry Finn. ... all American writing comes from that. There was nothing before. There has been nothing as good since.
นิยายเรื่องอื่นที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ "ทอม ซอว์เยอร์ ผจญภัย", "The Prince and the Pauper", "A Connecticut Yankee in King Arthur's Court" และงานเขียนสารคดี "Life on the Mississippi"
ทเวน เริ่มต้นต้วยการเป็นนักเขียนบทกลอนขำขัน แต่สุดท้ายกลายเป็นว่า เขาเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ที่น่ากลัว เกือบจะเรียกได้ว่าแหกคอกเลยก็ว่าได้ จากที่ได้ประสบกับ ความยโสโอหัง ความเจ้าเลห์เพทุบาย และการเข่นฆ่ากันของเหล่ามนุษยชาติ ในช่วงตอนกลางของอาชีพ เขาได้ผสมผสาน ความขบขัน การดำเนินเรื่องที่แข็งขัน และการวิจารณ์สังคม เอาไว้อย่างไม่มีใครเปรียบ ในงานเขียนของเขา ฮัคเคิลเบอรี่ ฟินน์ พจญภัย
ทเวน เป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้ภาษาชาวบ้าน เขาเป็นผู้ที่ช่วยสร้างวรรณกรรมอเมริกัน ที่มีลักษณะเฉพาะตัว จากภาพลักษณ์ และภาษาของชาวอเมริกัน และได้ทำให้มันเป็นที่นิยมขึ้นมา
ทเวน นั้นมีความหลงใหลในวิทยาศาสตร์ เขาเป็นเพื่อนที่คบหามานานกับนิโคลา เทสลา ทั้งคู่มักจะใช้เวลาร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ (เช่น ใน ห้องทดลองของเทสลา) เรื่อง A Connecticut Yankee in King Arthur's Court นั้น ก็ได้ใช้การเดินทางผ่านกาลเวลา ซึ่งเดินทางจากช่วงเวลาของเขา กลับไปในยุคของกษัตริย์อาเธอร์ และได้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้สร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับยุคนั้น
ทเวน เป็นหนึ่งผู้นำใน Anti-Imperialist League (กลุ่มผู้ต่อต้านการเข้าครอบงำประเทศอื่นโดยสหรัฐอเมริกา) ซึ่งได้ต่อต้านการเข้ายึดครองประเทศฟิลิปปินส์ เขาได้เขียนเรื่อง "Incident in the Philippines", ซึ่งตีพิมพ์หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว ในปี ค.ศ. 1924, เพื่อตอบโต้เหตุการณ์การสังหารหมู่ที่ Moro Crater ที่ชาว Moro 600 คนถูกสังหาร.
คำ "Mark Twain" เป็นคำที่มีความหมายสองนัย นัยหนึ่งนั้น เป็นหน่วยวัดความลึกทางน้ำเท่ากับ 2 fathom ส่วนอีกนัยนั้นหมายถึง "safe water" หลายคนเชื่อว่าคำ "Mark Twain" น่าจะมาจากความหมายที่สอง เนื่องมาจากนิสัยชอบดื่มของ ทเวน มากกว่าที่จะมาจากการเป็นนักเดินเรือของเขา นอกจากนามปากกา มาร์ก ทเวน แล้วเขายังใช้ชื่อ "Sieur Louis de Conte" ในนิยายอัตชีวประวัติของโยนออฟอาร์ค (Joan of Arc)

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่สอง





รถถัง Tiger (ภาพบน) และ Tiger II (ภาพล่าง) ของเยอรมัน ถูกทำลายในการรบในนครเบอร์ลิน ผู้สื่อข่าวรัสเซียคนหนึ่งที่ติดตามทหารรัสเซีย ขณะทำการรบในเบอร์ลินเล่าว่า "บางครั้งปืนใหญ่ของเรา ระดมยิงเป้าหมายเล็กๆ อย่างเช่น สวนหน้าบ้าน เพียงเป้าหมายเดียว นับพันนัด หากมีการต่อต้านจากที่นั่น ยอดผู้เสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายสูงมาก"




ปืนใหญ่ของรัสเซียซึ่งมีจำนวนมากถึง 28,000 กระบอก ในการรบที่เบอร์ลิน กำลังยิงถล่มที่หมายต่างๆ ในกรุงเบอร์ลิน ในเดือนเมษายน 1945 รัสเซียใช้กระสุนปืนใหญ่และจรวดมากกว่าสองล้านนัดในการรบครั้งนี้ ส่งผลให้อาคารต่างๆ ในเบอร์ลินถูกทำลายเป็นซากปรักหักพัง แต่การต้านทานในตัวเมืองยังมีอยู่อย่างหนาแน่น






กรุงเบอร์ลินขณะนี้ ถูกป้องกันโดยกองทัพเยอรมัน และหน่วยทหาร เอส เอส สนับสนุนโดยยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler youth) และกองกำลังโฟล์คสตรุมม์ (Volkssturm) ซึ่งเป็นผู้สูงอายุซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นทหารมาก่อน ตลอดจนทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีจำนวนทั้งหมดที่อยู่ในกรุงเบอร์ลินประมาณ 45,000 คน จากจำนวนทหารเยอรมันทั้งหมดที่ป้องกันอยู่รอบพื้นที่ 766,750 คน

ตัวเลขที่น่าสนใจอีกตัวเลขคือ จากจำนวนทหารเยอรมัน 45,000 คน ที่ป้องกันเบอร์ลิน กว่า 20,000 คนเสียชีวิตจากการสู้รบ

จากห้วงเวลา 1 - 19 เมษายน 1945 การรุกของรัสเซียเต็มไปด้วยความสูญเสีย เยอรมันต่อสู้อย่างทรหด รัสเซียต้องเสียรถถังไปถึง 2,807 คัน ส่วนใหญ่จากอาวุธต่อสู้รถถัง แบบ Panzerfaust

20 เมษายน 1945 ซึ่งเป็นวันเกิดของฮิตเลอร์ ปืนใหญ่ของกองกำลังแนวหน้าเบโลรุสเซียที่ 1 (1st Belorussia Front) ของรัสเซีย ก็เปิดฉากยิงถล่มนครเบอร์ลินอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง ไปสิ้นสุดการยิงลงเมื่อเยอรมันยอมแพ้ ใช้กระสุนมากกว่าสองล้านนัด เป็นการยิงที่ใช้กระสุนมากกว่าการทิ้งระเบิด ของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเหนือนครเบอร์ลินตลอดสงครามเสียอีก

ในขณะเดียวกัน กองกำลังแนวหน้าเบโลรุสเซียที่ 2 ของรัสเซียก็โจมตีปีกของกองทัพกลุ่ม Vistula ของเยอรมัน วันต่อมา 2nd Guards Tank Army ของนายพล Bogdonov ก็รุกเข้าเบอร์ลินทางทิศเหนือ

ฮิตเลอร์ออกคำสั่งการรักษากรุงเบอร์ลินด้วยตนเอง เขาสั่งให้กองทัพที่ 9 (the ?IX Army) รักษาแนวตั้งรับที่ Cottbus เอาไว้ แต่ก็ได้รับการคัดค้านจากฝ่ายเสนาธิการของเขาว่า หากไม่ถอนกองทัพที่ 9 ออกมาอย่างทันท่วงที กองทัพที่ 9 จะตกอยู่ในวงล้อมของรัสเซีย

สถานการณ์เป็นไปอย่างสิ้นหวังสำหรับฝ่ายเยอรมัน แม้จะต้านทานอย่างเหนียวแน่น ทหารรัสเซียรุกคืบหน้าเข้ามาเรื่อยๆ จากอาคารหนึ่งสู่อีกอาคารหนึ่ง จากถนนสายหนึ่งสู่ถนนอีกสายหนึ่ง ท่ามกลางการสูญเสียอย่างหนัก

รถถังของรัสเซียแบบ T 34 แม้จะมีศักยภาพในการรบในทุ่งกว้าง แต่เมื่ออยู่ในเมือง ที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง ที่กีดขวางการเคลื่อนที่ ก็ทำให้ประสิทธิภาพของรถถังด้อยลงไปอย่างมาก

22 เมษายน 1945 ในห้องประชุมสรุปสถานการณ์ภายในบังเกอร์ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ท่านผู้นำยอมรับว่าแผนการต่างๆ ในการปกป้องอาณาจักรไรซ์ที่สามของเขา ล้มเหลว พร้อมทั้งกล่าวหาฝ่ายเสนาธิการว่า เป็นต้นเหตุของความล้มเหลวทั้งมวล ท้ายที่สุด ฮิตเลอร์ประกาศว่า สงครามครั้งนี้ เยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แล้ว แต่เขาจะอยู่ที่นี่จนวินาทีสุดท้าย

23 เมษายน 1945 กองทัพที่ 5 (the 5th Shock Army) และกองทัพรถถังที่ 1 (the 1st Guards Tank Army) ของรัสเซียรุกเข้าตัวเมืองจากด้านตะวันออกเฉียงใต้ และถึงสถานีรถไฟรอบเมืองใน 24 เมษายน

ขณะเดียวกำลังเสริมของฝ่ายเยอรมันก็ไม่สามารถฝ่าวงล้อมทหารรัสเซียเข้ามาในเมืองได้ ตามแผนการของฮิตเลอร์ มีเพียงหน่วยทหาร เอส เอส ของอาสาสมัครฝรั่งเศสเท่านั้น ที่สามารถฝ่าวงล้อมเข้ามาได้ และเข้ารับผิดชอบพื้นที่ Sector C ที่มีการโจมตีจากรัสเซียรุนแรงที่สุด

26 เมษายน 1945 กองทัพที่ 8 (the 8th Guards Army) และกองทัพรถถังที่ 1 (the 1st Guards Tank Army) ของรัสเซียโจมตีสนามบิน Tempelhof และพบกับการต่อต้านจากกองพล Muncheberg และกองพล Nordland ของเยอรมัน

27 เมษายน 1945 กองพล Muncheberg และ Nordland ที่อ่อนล้าและมีกำลังต่ำกว่าอัตราการจัดจริง ต้องเผชิญหน้ากับกองทัพรัสเซียถึง 5 กองทัพ จนต้องล่าถอยจากที่มั่น ทำให้กองทัพรัสเซียเริ่มเข้าสู่ใจกลางเมืองเบอร์ลินได้

29 เมษายน 1945 กองทัพที่ 3 (the 3rd Shock Army) ของรัสเซียข้ามสะพาน Moltke และกระจายกำลังเข้าสู่ถนน และอาคารในเบอร์ลิน เริ่มต้นที่กระทรวงมหาดไทย แต่ก็คืบหน้าไปไม่ได้มากนัก เนื่องจากปืนใหญ่ไม่สามารถข้ามสะพานตามมาได้ เพราะสะพานเสียหายอย่างหนัก จนกระทั่งสะพานได้รับการซ่อมแซม หน่วยปืนใหญ่ก็เริ่มเคลื่อนกำลังเข้าสู่ตัวเมือง และยิงทำลายทีละอาคาร และสามารถเข้ายึดตึกกองบัญชาการตำรวจลับเกสตาโปได้ แต่ก็ถูกหน่วยเอส เอส ตอบโต้จนต้องถอนตัวออกจากอาคาร

เวลา 04.00 น. ภายในบังเกอร์ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เขาได้ลงนามในพินัยกรรม และเข้าพิธีแต่งงานกับอีวา บราวน์ (Eva Braun)

30 เมษายน 1945 สะพาน Moltke ซ่อมแซมเสร็จสมบูรณ์ ทหารรัสเซียพร้อมรถถังและปืนใหญ่ สนธิกำลังเข้าโจมตีอาคารรัฐสภาไรซ์สตาค (Reichstag) ตัวอาคารรัฐสภานี้ ไม่ได้ใช้การมาตั้งแต่ ปี 1933 ถูกทหารเยอรมันดัดแปลงเป็นที่มั่นที่แข็งแรง อีกทั้งยังมีปืนใหญ่ขนาด 88 มม. ซึ่งอยู่ห่างออกไป 2 กิโลเมตร ยิงสนับสนุนตอบโต้การเข้าตีของรัสเซียอย่างรุนแรง การรบในตัวอาคารเป็นไปแบบห้องสู่ห้อง ใช้เวลา 2 วันกว่าที่จะกวาดล้างทหารเยอรมันออกไปได้ทั้งหมด

ในวันเดียวกันนั้นเอง เวลา 15.30 น. อดอล์ฟ ฮิตเลอร์และอีวา บราวน์ ฆ่าตัวตาย โดยฮิตเลอร์ใช้อาวุธปืนสั้นยิงกรอกปากตัวเอง ส่วนอีวา บราวน์ใช้วิธีดื่มยาพิษร้ายแรง ศพของทั้งสองถูกเผาไม่ไกลจากทางออกฉุกเฉินของบังเกอร์

ในห้วงเวลานี้ หลงเหลือทหารเยอรมันกระจัดกระจายอยู่ในเมืองประมาณ 10,000 คน และกำลังถูกบดขยี้จากทหารรัสเซียที่รุกเข้ามาทุกๆด้าน เมื่อข่าวการเสียชีวิตของฮิตเลอร์แพร่ออกไป ทหารเยอรมันส่วนใหญ่พยายามฝ่าวงล้อมของรัสเซีย ข้ามแม่น้ำ Elbe เข้ายอมแพ้ต่อกองทัพที่ 9 ของสหรัฐอเมริกา

2 พฤษภาคม 1945 นครเบอร์ลินตกเป็นของรัสเซีย แม้จะมีการต่อต้านออกไปอีกสองถึงสามวันก็ตาม

7 พฤษภาคม 1945 เยอรมันยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นการปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง ในทวีปยุโรปลงอย่างสิ้นเชิง

บทสรุป

การรบที่เบอร์ลิน เป็นการปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง ภาคพื้นยุโรปลงอย่างสมบูรณ์ ท่ามกลางความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีการประเมินความสูญเสียดังนี้

รัสเซีย ทหารเสียชีวิตจากการสู้รบ 80,000 คน บาดเจ็บและสูญหาย 275,000 คน

เยอรมัน สูญเสียทหาร 150,000 คน ตลอดทั้งการรบ และเสียชีวิตเฉพาะการรบในเมืองกว่า 20,000 คน ผู้หญิงกว่า 100,000 คนที่ตกอยู่ในวงล้อมของทหารรัสเซีย ถูกข่มขืน คุกคามทางเพศ พลเรือนเสียชีวิตจากการสู้รบ การสังหารระหว่างการยึดครอง ไม่ทราบจำนวน





ทหารรัสเซียสวนสนามในกรุงเบอร์ลิน ภายหลังการสู้รบสิ้นสุดลง





เชลยศึกเยอรมันจากหน่วย Volkssturm ซึ่งเป็นหน่วยป้องกันเมืองเบอร์ลิน หน่วยนี้จัดกำลังจากคนชรา ทหารผ่านศึก และยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler youth - Hitlerjugend) กำลังพลเหล่านี้ติดอาวุธต่อสู้รถถังอันทรงประสิทธิภาพอย่างเช่น Panzerfaust สามารถทำลายรถถังของรัสเซียได้เป็นจำนวนมากถึงกว่า 2,000 คัน




เชลยศึกที่เป็นยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler youth - Hitlerjugend) สังกัดกองกำลัง Volkssturm ที่รักษาเมืองเบอร์ลิน ในห้วงสุดท้ายของสงคราม ยุวชนฮิตเลอร์ใช้เยาวชนอายุตั้งแต่ 12 ปี เข้าร่วมในการรบที่กรุงเบอร์ลินด้วย





ทหารรัสเซีย ถ่ายภาพหน้าตึกรัฐสภา Reichstag ในนครเบอร์ลิน ภายหลังจากการรบสิ้นสุดลง พร้อมกับอวสานของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

การรบที่กรุงเบอร์ลินในสงครามโลกครั้งที่ 2

การรบที่กรุงเบอร์ลินในสงครามโลกครั้งที่ 2

ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2




การรบที่กรุงเบอร์ลิน

Battle of Berlin

จาก http://www.geocities.com/saniroj

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

---------------------------------------





ทหารรัสเซียจากกรมปืนเล็กยาวที่ 756 (the 756th Rifle Regiment) กำลังปักธงชาติบนยอดตึกรัฐสภา Reichstag ภายหลังจากยึดนครเบอร์ลินได้ ทหารผู้กำลังปักธงคือ Nikhail Yegorov อีกสองคนจากซ้ายคือ Meliton Kantaria และ Alexi Berest ภาพนี้ถูกจัดขึ้นใหม่ในวันต่อมา เพื่อการถ่ายภาพภายหลังการปักธงจริงโดยบุคคลทั้งสาม




ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 20 เมษายน 1945 ซึ่งเป็นวันเกิดของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (ขณะที่มีผู้โต้แย้งว่า ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 20 มีนาคม 1945 - เนื่องจากภาพได้ถูกเผยแพร่ทางภาพยนตร์ข่าว (Die Deutsche Wochenschau) เป็นครั้งแรกในวันที่ 22 มีนาคม 1945 - ข้อสรุปเกี่ยวกับวันที่ถูกต้องยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่)

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์กำลังมอบเหรียญกล้าหาญกางเขนให้กับยุวชนฮิตเลอร์ ซึ่งเชื่อว่าคือ Alfred Czech ภายนอกบังเกอร์ของเขาในกรุงเบอร์ลิน ยุวชนฮิตเลอร์เหล่านี้เป็นส่วนของกองกำลัง Volkssturm อันเป็นกองกำลังรักษากรุงเบอร์ลิน ที่เกณฑ์มาจากคนชราและเด็ก Volksturm ได้รับการติดอาวุธที่ดีเยี่ยม โดยเฉพาะอาวุธต่อสู้รถถัง Panzerfaust และ Panzerschreck ที่สร้างความเสียหายให้กับรถถังของรัสเซียเป็นอย่างมาก




สภาพนครเบอร์ลินระหว่างการรบ





ยอดผู้เสียชีวิตทั้งของเยอรมันและรัสเซียมีสูงมาก เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการจับเชลย ซึ่งทำให้เกิดภาระในการสู้รบที่ยืดเยื้อ ติดพัน




ทหารรัสเซียกับเครื่องยิงจรวดคัตยูช่า (Katyusha) ที่มีส่วนอย่างมากในการทำลายแนวตั้งรับของเยอรมันในกรุงเบอร์ลิน




ภายหลังสงครามสงบลง สตรีชาวเยอรมันกว่า 100,000 คน ถูกข่มขืน และละเมิดสิทธิมนุษยชน ในภาพทหารรัสเซียกำลังแย่งชิงรถจักรยานจากสตรีชาวเยอรมัน





การรบที่เบอร์ลิน

การรบที่เบอร์ลิน เป็นการสู้รบครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายในสงครามโลกครั้งที่สอง ในสมรภูมิยุโรป การรบเริ่มต้นตั้งแต่ 16 มกราคม 1945 เมื่อกองทัพรัสเซียสามารถรุกผ่านแนวตั้งรับของกองทัพเยอรมันที่ วิสทูราและโอเดอร์ (Vistula - oder) มาได้

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตัดสินใจบัญชาการรบอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ในขณะที่ผ่ายเสนาธิการของเขา ต้องการให้เขาย้ายไปอยู่ที่กองบัญชาการของเขา ในปรัสเซียตะวันออก

ทางฝ่ายสหรัฐอเมริกา นายพลดไวท์ ดี ไอเซนฮาวว์ (Dwight D. Eisenhower) ไม่มีความต้องการที่จะยึดกรุงเบอร์ลิน ร่วมกับรัสเซีย เพราะตระหนักดีว่า การรบที่เบอร์ลินจะต้องนองเลือด ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เลือดของชาวอเมริกัน ปูทางเข้าสู่นครหลวงของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 หรือ เบอร์ลินแต่อย่างใด

อีกทั้งไอเซนฮาวว์ยังกังวล ถึงการปะทะกันเอง จะโดยอุบัติเหตุ หรือ โดยความตั้งใจก็ตาม ระหว่างฝ่ายอเมริกัน และฝ่ายรัสเซีย ในการยึดครองกรุงเบอร์ลินอีกด้วย ดังนั้นเมื่อสหรัฐอเมริกาไม่ร่วมการยึดเบอร์ลิน รัสเซียก็เปิดฉากการรุกโดยลำพัง โดยใช้กำลังมหาศาล ประกอบด้วยทหารราบ 2,500,000 คน รถถัง 6,250 คัน อากาศยาน 7,500 ลำ

จากนั้นกองทัพรัสเซียก็รุกมาทางตะวันตกด้วยความเร็ว วันละ 30 - 40 กิโลเมตร ผ่านปรัสเซียตะวันออก (East Prussia) ปอมเมราเนียตะวันออก (East Pomerania) และหยุดการรุกลงชั่วคราว เมื่ออยู่ห่างจากกรุงเบอร์ลิน 60 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออก ตามแนวแม่น้ำโอเดอร์ (Oder river)

20 มีนาคม 1945 การรบรอบๆ ชานเมืองเบอร์ลินก็เปิดฉากขึ้น





จรวดหลายลำกล้อง คัตยูช่า (Katyusha) ขนาด 132 มม. BM - 13 N ของกองทัพรัสเซีย ติดตั้งบนรถบรรทุกที่สหรัฐอเมริกา ให้รัสเซียยืมใช้ ตามโครงการ Lend - Lease กำลังระดมยิงใส่กรุงเบอร์ลิน ในเดือนเมษายน 1945 จรวดชุดนี้ ระยะยิง 5,500 เมตร

ประมาณกันว่าตลอดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัสเซียผลิตเครื่องยิงจรวดคัตยูช่า เป็นจำนวนกว่า 10,000 ชุด และถูกนำมาใช้หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง เช่น ในสงคราม 6 วัน ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มชาติอาหรับ




จรวดคัตยูช่า ผลิตขึ้นครั้งแรกในปี 1939 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะขาดความแม่นยำ แต่การยิงจรวดขนาด 132 มม. หลายลูกออกไปพร้อมๆ กัน ก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เป้าหมายได้มากพอสมควร รวมทั้งการยิงเป็นจำนวนมาก ดังในภาพ เป็นการยิงในระดับกองพัน จะเป็นการข่มขวัญข้าศึกได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งเสียงหวีดหวิวของจรวด การระเบิดที่ติดต่อกันเหมือนไม่มีสิ้นสุด และการปูพรมลงพื้นที่เป้าหมาย

ทหารเยอรมันขนานนามจรวดชนิดนี้ว่า สตาลินออร์แกน (stalin's pipe organ) และเพื่อเป็นการแก้แค้น เมื่อใดที่ทหารเยอรมันจับกุมพลยิงจรวดคัตยูช่าของรัสเซียได้ เชลยเหล่านั้นจะถูกสังหารทันที







อาวุธต่อสู้รถถัง Panzerfaust ของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นอาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายยานเกราะ หรือสิ่งก่อสร้าง ราคาถูก ผลิตง่าย สามารถใช้งานได้ด้วยกำลังพลเพียงคนเดียว

ในการรบที่เบอร์ลิน ทหารเยอรมันได้ใช้ Panzerfaust ในการต่อสู้กับยานเกราะรัสเซียอย่างมีประสิทธภาพ ภาพบน คือกำลังพลของ Volkssturm ที่ป้องกันกรุงเบอร์ลิน ซึ่งจัดจากผู้สูงอายุ กำลังศึกษาการใช้ Panzerfaust






อาวุธที่ฝ่ายเยอรมันนำมาใช้ในการป้องกันเบอร์ลิน นอกจากเครื่องยิงลูกระเบิด Panzerfaust แล้ว ยังมี Panzer schreck ซึ่งเลียนแบบมาจากปืนบาซูก้าของสหรัฐอเมริกา ภาพบนคือตัวเครื่องยิง ติดเกราะกันกระสุนให้พลยิง ภาพถัดลงมาคือลูกกระสุน อาวุธชนิดนี้มีประสิทธิภาพสูง เมื่อใช้ในการตั้งรับ สามารถทำลายรถถังของรัสเซียที่รุกเข้าสู่นครเบอร์ลินได้เป็นจำนวนมาก

ปฏิบัติการบากราติออน

ปฏิบัติการบากราติออน
ปฏิบัติการบากราติออน (Operation Bagration) เริ่มขึ้นในระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1944 โดยมีกองทหารรัสเซียเดยุทธการ หลังจากที่จบยุทธการ รัสเซียสามารถกู้เอา ไบโลรัสเซีย (เบลารุส) และยูเครนกลับคืนมาได้ และเป็นหนึ่งในยุทธการที่มีส่วนในชัยชนะของกองทัพพันธมิตร
ชื่อบากราติออน มาจากพระนามของเจ้าชายไพรโอตท์ บากราติออน (Pyote Bagration) โดยสตาลินตั้งใจให้นำพระนามของพระองค์มาตั้ง ทั้งยังกำหนดวันเปิดยุทธการให้ตรงกับรอบ 3 ปีหลังเยอรมนีเปิดยุทธการบาร์บารอสซา โดยตั้งจุดบุกจู่โจมเข้าไปที่ไบโลรัสเซีย แต่ก็จำเป็นต้องตัดกำลังเยอรมันลง ด้วยการหลอกการโจมตี แสร้งชุมนุมทัพและเพิ่มกำลังป้องกันบริเวณยูเครน ทำให้กองทัพเยอรมันเบนเข็มส่งกองพลส่วนใหญ่ลงไปยังยูเครน ทำให้บริเวณไบโลรัสเซียลดลง เหลือเพียงกองพลลุฟวาฟเฟต์ และกองปืนใหญ่สนับสนุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ในขณะนั้น กองทัพแนวรบตะวันออกของนาซีเยอรมันมีจอมพลเอิร์ทสท์ บุช (Ernst Busch) เป็นผู้บังคับการ มีกองทัพแบ่งเป็น 4 กอง แต่เนื่องจากกองทัพโซเวียตหลอกกองทัพนาซีให้ไปกันการโจมตีที่ยูเครน และโรมาเนีย กองทัพด้านตะวันออกจึงน้อยลง แต่ทางกองทัพโซเวียต มีการดึงทหารมาไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนที่รบตลอดปฏิบัติการณ์ และสตาลินให้สองจอมพลมือขวาของตน อเล็กซานดร์ วาสิเลฟสกี กับ กิออร์กี้ ชูคอฟ มาคุมกำลังพลร่วมกับนายพลอื่นๆ ทำให้กองทหารโซเวียตฮึกเหิมขึ้นมาก
แบบแผนการรบในปฏิบัติการบากราติออน
ก่อนเริ่มบุก ทหารโซเวียตเริ่มการสร้างแผนลวงฝ่ายนาซีโดยการจัดระดมพล จัดการป้องกันการสอดแนมและการโจมตีอย่างเต็มขั้น และเริ่มพรางที่ตั้งทหารต่างๆในเขตภาคกลางลง ในขณะที่เริ่มส่งทหารไปปฏิบัติการณ์กองโจรหลังแนวหน้าทหารนาซี ให้ปั่นป่วนก่อนจะเริ่มการบุกทะลวง และประเมินกำลังทัพในแนวส่วนต่างๆของฝ่ายนาซี และจากข้อมูลระบุว่ากองโจรโซเวียตมีจำนวนหลายแสนคน ซ้ำได้รับการสนับสนุนอาวุธ เสบียง เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆอย่างดีจากกองทัพโซเวียต
วันที่ 22 มิถุนายน ปี ค.ศ.1944 กองทัพโซเวียตเริ่มการเจาะช่องว่างในแนวรบเยอรมัน โดยพยายามเจาะเข้าไปรอบๆพื้นที่ทั้งหมด และโจมตีรุนแรงที่สุดที่เมือง Vitebsk ในวันต่อมามีการระดมยิงปืนใหญ่ใส่กองทหารนาซีเยอรมัน ตั้งแต่เวลา 05:00 น. เป็นเวลา 2 ชั่วโมงอย่างหนักหน่วง จนทหารเยอรมนีถึงกับบันทึกว่า เป็นการยิงปืนใหญ่ที่รุนแรงที่สุดในแนวรบภาคตะวันออกเลยทีเดียว

ข่าวเด่นในบล๊อกเรา

แอดมินสมาย

แอดมินสมาย
เยี่ยมเว็บเรา