วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การปิดกั้นเบอร์ลิน 1


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


รูปแสดงพื้นที่ในเยอรมนีที่ถูกครอบครองเมื่อ ค.ศ. 1945 เบอร์ลินตะวันตก ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส อยู่ในเยอรมนีส่วนที่ปกครองโดยสหภาพโซเวียต
การปิดกั้นเบอร์ลิน (อังกฤษBerlin Blockade) เป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์หลักของสงครามเย็น ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 194811 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 ประเทศมหาอำนาจที่ชนะสงครามโลกครั้งที่สองได้เข้ายึดครองประเทศเยอรมนี สหภาพโซเวียตซึ่งยึดครองกรุงเบอร์ลินอยู่ในเวลานั้นตั้งด่านปิดกั้นถนนไม่ให้สามมหาอำนาจฝ่ายตะวันตก (สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส) เข้าถึงกรุงเบอร์ลินได้ วิกฤตการณ์นี้คลี่คลายลงหลังจากมหาอำนาจฝ่ายตะวันตกร่วมกันจัดตั้ง การขนส่งทางอากาศที่เบอร์ลิน (Berlin Airlift) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการขนส่งเสบียงสู่พื้นที่ของตน พร้อมทั้งเป็นการแสดงขีดความสามารถทางการผลิตและแสนยานุภาพทางอากาศของฝ่ายตะวันตก

การแบ่งประเทศเยอรมนี

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ทหารโซเวียตและทหารฝ่ายพันธมิตรตะวันตกต่างก็ขยายพื้นที่ของตนไปตามแนวแม่น้ำเอลเบอ (Elbe) ในขณะที่ทหารของฝรั่งเศสบางส่วนยังปักหลักอยู่ในเยอรมนีตะวันตกเฉียงใต้
ระหว่างวันที่ 17 มิถุนายน - 2 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ฝ่ายสัมพันธมิตรบรรลุข้อตกลงพอทสดัม (Potsdam Agreement) ซึ่งกำหนดให้แบ่งเยอรมนีออกเป็น 4 ส่วนโดยแต่ละส่วนจะถูกปกครองโดยชาติที่ครอบครองดินแดนในส่วนนั้นอยู่ก่อนหน้าสงครามจะยุติ กรุงเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงของเยอรมนีก็จะถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การที่กรุงเบอร์ลินตั้งอยู่ในพื้นที่ของสหภาพโซเวียตทำให้กรุงเบอร์ลินส่วนที่เป็นของสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ ถูกล้อมรอบด้วยทหารโซเวียต
ฝ่ายพันธมิตรดำเนินแผนมอร์เกนเทา (Morgenthau Plan) ที่กำหนดให้ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของเยอรมนีเพียง 50% ของสภาพเศรษฐกิจเมื่อปี 1938 เพื่อป้องกันไม่ให้เยอรมนีกลายเป็นรัฐทหารอันก้าวร้าวได้อีก สหภาพโซเวียตเห็นด้วยกับแผนนี้เพราะไม่ต้องการให้เยอรมนีโจมตีรัสเซีย วียาเชสลาฟ โมโลตอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหภาพโซเวียต กล่าวกับ เจมส์ เอฟ. เบิร์นส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ว่าสหภาพโซเวียตต้องการเห็นเยอรมนีที่ไร้พิษภัย แผน JCS 1067 ของสหรัฐอเมริกาสะท้อนข้อตกลงนี้โดยกล่าวว่าสหรัฐอเมริกาจะ "ไม่ดำเนินการฟื้นฟูเยอรมนีในด้านเศรษฐกิจ" ดังนั้น โรงงานในเยอรมนีส่วนที่สหรัฐอเมริกาครอบครองอยู่จึงถูกรื้อถอนและส่งมอบให้กับเยอรมนีส่วนที่โซเวียตยึดครองเพื่อเป็นการลดศักยภาพทางอุตสาหกรรมของเยอรมนี และให้สหภาพโซเวียตทำตามแผนการฟื้นฟูของตน
ผลลัพธ์ของแผนมอร์เก็นเธานั้นรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างสุดขีดของเยอรมนีส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจทั้งทวีปยุโรปถดถอยลง วิลเลียม แอล. เคลย์ตัน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประนาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ในการประชุมพอทสดัมรายงานกลับไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า "ประชาชนหลายล้านคนกำลังอดตายอย่างช้า ๆ "
ในตอนแรก สหรัฐอเมริกายังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายต่อเยอรมนี แต่หลังจากที่นายพลลูเชียส ดี. เคลย์ และบรรดาเหล่าเสนาธิการเริ่มแสดงความกังวลต่อการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีและเศรษฐกิจของยุโรปที่เริ่มพังพินาศ ฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1947 นายพลจอร์จ มาร์แชล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้โน้มน้าวให้ประธานาธิบดีทรูแมนยกเลิกแผน JCS 1067 ในที่สุด แผนการ JCS 1779 ก็ถูกนำมาแทนที่แผนการเดิมโดยมีใจความตอนหนึ่งว่า "การที่ยุโรปจะเป็นระเบียบและมั่งคั่งได้ จะต้องได้รับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจจากเยอรมนีที่มีเสถียรภาพและอุดมสมบูรณ์" แผนการใหม่นี้สวนทางกับการแผนเดิมอย่างสิ้นเชิง
สหรัฐอเมริกาเริ่มดำเนินนโยบายตามแผนมาร์แชลล์ โดยส่งเงินจำนวนมากให้กับประเทศในยุโรปที่ต้องการเงิน โจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียต เริ่มสงสัยในแผนการของสหรัฐอเมริกา เขารู้สึกว่าสหรัฐอเมริกากำลังใช้เงินซื้อประเทศในยุโรปเพื่อขยายอิทธิพลของตนให้เป็นจักรวรรดิ เขากล่าวว่า "นี่คืออุบายของทรูแมน มันต่างจากการช่วยให้ประเทศอื่นตั้งตัวได้ สหรัฐอเมริกาไม่ต้องการช่วยเรา สิ่งที่สหรัฐอเมริกาต้องการคือการแทรกซึมประเทศในยุโรป"[1] ในตอนต้น โมโลตอฟมีความสนใจแผนการดังกล่าวและยังได้เข้าร่วมการประชุมด้วย แต่เขาเปลี่ยนใจในภายหลังโดยกล่าวว่ามันเป็น "ลัทธิจักรววรดินิยมดอลลาร์" ในที่สุด สตาลินจึงสั่งห้ามไม่ให้ประเทศในเครือข่ายคอมมิวนิสต์รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา
นโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อเยอรมนีในด้านเศรษฐกิจเริ่มไม่ลงรอยกับนโยบายของสหภาพโซเวียต สตาลินต้องการลดศักยภาพของเยอรมนีลงเพื่อไม่ให้ทำสงครามได้อีก แต่สหรัฐอเมริกาต้องการฟื้นฟูเยอรมนีให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของยุโรป ความพยายามที่จะดำเนินนโยบายให้เป็นหนึ่งเดียวนั้นสิ้นสุดลง ค.ศ. 1946 สหภาพโซเวียตเลิกส่งออกผลผลิตทางการเกษตรจากเยอรมนีส่วนยึดครองของโซเวียต นายพลเคลย์ตอบโต้ด้วยการเลิกส่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกรื้อถอนให้กับเยอรมนีส่วนโซเวียต ในที่สุด สหภาพโซเวียตจึงเริ่มใช้นโยบายประชาสัมพันธ์ต่อต้านอเมริกาและเริ่มขัดขวางการดำเนินการในพื้นที่ทั้งสี่ส่วน
สหรัฐอเมริกามีจุดยืนว่า หากสหภาพโซเวียตไม่ให้ความร่วมมือในการรวมเยอรมนีให้เป็นหนึ่งเดียว สหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจตะวันตกจะพัฒนาระบบอุตสาหกรรมแบบตะวันตกขึ้นในเยอรมนีและจะรวมเยอรมนีส่วนตะวันตกเข้ากับประเทศยุโรปตะวันตกใหม่ มหาอำนาจฝ่ายตะวันตกทั้งสามบรรลุข้อตกลงนี้ในการประชุมที่ลอนดอนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1948 และประกาศในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1948 ว่าจะให้เยอรมนีฝั่งตะวันตกมีรัฐบาลที่เป็นอิสระ ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจตามแบบสหรัฐอเมริกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข่าวเด่นในบล๊อกเรา

แอดมินสมาย

แอดมินสมาย
เยี่ยมเว็บเรา